top of page

การให้ผู้อพยพย้ายถิ่น-แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการสุขภาพ เป็น... - มติชน สุดสัปดาห์ (15-21 ธ.ค. 66)

อัปเดตเมื่อ 20 มิ.ย.



การให้ผู้อพยพย้ายถิ่น-แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการสุขภาพ เป็นความสำคัญทั้งเพื่อความเสมอภาคและความมั่นคงด้านสุขภาพสำหรับเราทุกคน

วันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล” (International Migrants Day) นับเป็นวาระอันเหมาะสมที่จะพูดถึงความสำคัญของการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่ายของแรงงานข้ามชาติทุกคนในประเทศไทย


การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่า ไม่มีผู้ใดปลอดภัยได้แท้จริง จนกว่าทุก ๆ คนในสังคมนั้นจะปลอดภัย จากรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยในรอบที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีต้นกำเนิดจากชุมชนผู้อพยพย้ายถิ่นแรงงานพม่าในจังหวัดสมุทรสาคร (1) ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มักเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ หน่วยงานด้านสาธารณสุขต่าง ๆ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้พยายามพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติทุกคนในประเทศไทย ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น เดือนธันวาคม 2564 ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ออกมติ 14.2 ว่าด้วยการคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม


คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ฟรี

แต่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ยังคงเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ


ช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับพลเมืองไทย กล่าวคือคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ฟรี ภายใต้ระบบประกันและการคุ้มครองสุขภาพต่าง ๆ ตาม พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แต่อย่างไรก็ตามการเข้าถึงสวัสดิการดังกล่าวของกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องและมีความท้าทายมาก


จำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีประมาณ 4 ล้านคน (2) และร้อยละ 87 หรือประมาณ 2.5 ล้านคนของจำนวนแรงงานข้ามชาติดังกล่าวจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย (3) มีหลักประกันสุขภาพคุ้มครอง โดยคนกลุ่มนี้สามารถลงทะเบียนเพื่อสม้ครโครงการประกันสุขภาพภายใต้ โครงการประกันสังคม กระทรวงแรงงาน หรือ กองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข แต่ยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ลงทะเบียนจึงไม่มีความคุ้มครองใด ๆ


นอกจากนี้คาดว่าจำนวนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งไม่มีประกันสุขภาพ เมื่อคนกลุ่มนี้เจ็บป่วยจนต้องใช้บริการการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐหรือคลินิกเอกชน ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และอาจต้องเผชิญกับค่ารักษาจำนวนมากจนมิอาจรับผิดชอบไหว บางกรณีโรงพยาบาลรัฐเองก็ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณ (4) ซ้ำร้ายแรงงานเหล่านี้มีความวิตกกังวลว่าอาจจะถูกรายงานต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและถูกส่งกลับหากไปรับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของรัฐ จึงมักจะดูแลรักษาตนเอง ยกเว้นเสียแต่จะป่วยหนักเข้าจริง ๆ ซึ่งระหว่างนั้นเชื้อโรคจากผู้ที่ป่วยก็แพร่กระจายไปทั่วแล้ว


เศรษฐกิจไทย

ต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างยิ่ง


แรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยโดยมีส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ร้อยละ 4.3% ถึง 6.6% (5) และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 17 ของโลกที่มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ (6) ธุรกิจในหลายภาคส่วนพึ่งพาอาศัยการจ้างงานของแรงงานอพยพอย่างมาก อาทิเช่น อุตสาหกรรมการประมง การก่อสร้าง เกษตรกรรม และงานบ้าน โดยแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะรับจ้างทำงานประเภทที่ ยาก (difficult) สกปรก (dirty) และอันตราย (dangerous) (7)


อย่างไรก็ตาม การจ้างแรงงานข้ามชาติเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคมไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาอุปสรรคเรื่องการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทย โดยคนมักจะเข้าใจว่าเป็นความผิดของแรงงานข้ามชาติฝ่ายเดียวในการไม่ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงนายจ้างมีบทบาทสำคัญในการขึ้นทะเบียนแรงงาน นอกจากนี้การขึ้นทะเบียนใช้ระยะเวลานาน ทั้งมีค่าใช้จ่ายสูง มีขั้นตอนที่ซับซ้อนยากต่อการทำความเข้าใจ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากรับจ้างทำงานในลักษณะชั่วคราวแบบรายวัน ในสถานที่ต่างกันไป ทำให้ยากและไม่สะดวกต่อการขึ้นทะเบียนนายจ้างเฉพาะราย หรือภาระการบริหารจัดการเปลี่ยนนายจ้าง


แม้จะมีความซับซ้อนดังกล่าว แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายก็ยังถูกตีตรากล่าวโทษ ดังนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องการคุ้มครองสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ความรู้สึกของคนไทยจึงไม่ต้องการให้เงินภาษีถูกนำไปใช้เป็นสวัสดิการเพื่อดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ที่ทำผิดกฎหมายเหล่านี้



แก้ปัญหาด้วยโครงการแนวคิดใหม่

กองทุนเอ็มฟันด์ (Migrant FUND)


หลายทศวรรษที่ผ่านมา การดูแลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติเป็นหัวข้อถกเถียงเชิงนโยบายที่สำคัญท่ามกลางทัศนคติที่มีความอ่อนไหวและเข้าใจคลาดเคลื่อน เกิดการริเริ่มโครงการแนวคิดใหม่ที่ชื่อ “เอ็มฟันด์” (M-FUND) โดย มูลนิธิดรีมลอปเม้นท์ เป็นกองทุนสุขภาพต้นทุนต่ำ ไม่แสวงหาผลกำไร สำหรับดูแลสุขภาพผู้ย้ายถิ่นผู้ซึ่งไม่มีประกันสุขภาพจากรัฐ เอ็มฟันด์เริ่มดำเนินงานลักษณะโครงการนำร่องในเดือนกันยายน 2560 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามแนวชายแดน ต่อมาได้ขยายพื้นที่ไปทั่วจังหวัดตาก สระแก้ว กาญจนบุรี เชียงราย อุบลราชธานี และตราด


แรงงานข้ามชาติที่สนใจเข้าร่วมสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่เอ็มฟันด์ที่ทำงานในชุมชน โดยสมทบเงินเป็นรายเดือน เดือนละ 100 บาท/คน (แผนพื้นฐาน) จะได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ สูงสุดถึง 5,000 บาท/ปี สำหรับบริการประเภทผู้ป่วยนอก และ 45,000 บาท/ปี สำหรับบริการประเภทผู้ป่วยใน


ข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 มีโรงพยาบาลรัฐกว่า 200 แห่ง ให้ความร่วมมือกับโครงการให้บริการด้านสุขภาพแก่สมาชิกเอ็มฟันด์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 มีแรงงานข้ามชาติลงทะเบียนแล้วมากถึง 69,000 คน ครอบคลุมการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกจำนวน 82,000 ครั้ง และประเภทผู้ป่วยในอีก 12,000 ครั้ง แม้ว่าตัวเลขนี้จะเป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนของแรงงานข้ามชาติที่ยังไร้ประกันสุขภาพจากรัฐ แต่กองทุนนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากแรงงานข้ามชาติด้วยความพึงพอใจ เช่นเดียวกันกับนายจ้าง รวมถึงโรงพยาบาลของรัฐ


“เราเข้าร่วมเป็นพันธมิตรโครงการเอ็มฟันด์มาหลายปีแล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ กลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นเหล่านี้เข้ามาทำงานในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก เราก็ให้บริการเหมือน ๆ คนไทยทุกอย่างไม่แตกต่าง และเราให้ความสำคัญกับเอ็มฟันด์ จึงให้ความร่วมมือสนับสนุนอย่างเต็มที่” อนุชาติ คล่องยุทธ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลโคกสูง จังหวัดสระแก้ว หนึ่งในโรงพยาบาลที่ร่วมมือกับโครงการ กล่าว


ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย


มูลนิธิดรีมลอปเม้นท์ ตระหนักดีว่าโครงการเอ็มฟันด์ที่ปัจจุบันดูแลสมาชิกเพียง 69,000 ราย จากแรงงานข้ามชาติไร้ประกันสุขภาพมากกว่า 1 ล้านคนนั้น เป็นจำนวนเล็กน้อยมากจนมิอาจส่งผลในระดับนโยบาย มูลนิธิฯ เป็นเพียงหนึ่งในผู้สนับสนุนให้รัฐบาลผู้กำหนดนโยบายได้พิจารณาถึงผลประโยชน์ด้านสาธารณสุขทั้งในระดับปัจเจกและระดับสาธารณะ หากแรงงานข้ามชาติทุก ๆ คนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่คำนึงถึงสถานะการจดทะเบียน เพราะโดยหลักการแล้วแรงงานข้ามชาติทุกคนมีส่วนต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น อีกทั้งแรงงานข้ามชาติทุกคนเป็นผู้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อสินค้าและบริการ


และที่สำคัญที่สุดคนไทยทุกคนจะยังคงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ตราบใดที่ “ทุกคน” ในสังคมยังไม่ปลอดภัยอย่างแท้จริง เมื่อยังมีคนร่วมสังคมเดียวกันอีกถึง 1 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับการดูแลสุขภาพใด ๆ เลย


นายแพทย์นิโคลาส์ ดูริเยร์

ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ มูลนิธิดรีมลอปเม้นท์

 

อ้างอิง:

  1. BBC News ไทย, โควิด-19: สธ. ประกาศการระบาดระลอกใหม่ในไทย ผู้ติดเชื้อจากกรณีสมุทรสาครเกือบ 700 รายใน 3 วัน, 20 ธันวาคม 2563

  2. International Office for Migrations, Thailand. Labor motility and social inclusion. 2019

  3. กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นโยบายและแนวทางการดำเนินงาน การตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ หน้า 3, มกราคม 2566

  4. จิราลักษณ์ นนทารักษ์ และคณะวิจัย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, รูปแบบระบบบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย : งบประมาณการจัดบริการสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว, 20 กรกฎาคม 2563

  5. International Labour Organization (ILO) report 2017, How Immigrants Contribute to Thailand’s Economy

  6. ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย, BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 2/2564 ข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงนโยบาย แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย, มีนาคม-เมษายน 256

  7. อภิยุกต์ อำนวยกาญจนสิน, กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, แรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมไทย “แต้มต่อหรือแค่ถ่อค้ำ”, สิงหาคม 2562



เว็บไซต์ Matichon Online (18 ธันวาคม 2566)




เว็บไซต์ Matichon Weekly (18 ธันวาคม 2566)


ดู 38 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Opmerkingen


bottom of page